ประวัติชมรมคนรักมวลเมฆ

ประวัติชมรมคนรักมวลเมฆ (โดยสังเขป)

วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2550 ผมเปิดเว็บบล็อก ชื่อ ชายผู้หลงรักมวลเมฆ ในระบบ GotoKnow.org ที่ http://gotoknow.org/blog/weather/toc  เว็บบล็อกนี้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับฝนฟ้าอากาศสำหรับคนทั่วไป โดยใช้ภาพเมฆสวยๆ และปรากฏการณ์แปลกๆ บนท้องฟ้ามาเป็นจุดดึงดูด เช่น เมฆจานบิน เมฆหางม้า เมฆลายพลิ้ว และพายุนาคเล่นน้ำ เป็นต้น

G2K-ชวนดูเมฆลายพลิ้ว-719x529ตัวอย่างบันทึกในเว็บบล็อก ชายผู้หลงรักมวลเมฆ

เว็บบล็อก ชายผู้หลงรักมวลเมฆ ยังมีภาพ & ข้อมูลที่น่าสนใจเป็นของแถม เช่น แสตมป์ภาพเมฆ บทกวีเกี่ยวกับสายรุ้งของอินเดียนแดง และตำราฝนหลวงพระราชทาน เป็นอาทิ

ผลก็คือ มีเพื่อนๆ บล็อกเกอร์มาร่วมแจมมากมาย ส่วนใหญ่ก็มาแสดงความคิดเห็นและโพสต์ภาพเมฆ บางคนก็สอบถามประเด็นค้างคาใจ หรือเล่าประสบการณ์ตรง (เช่น เหตุการณ์ฟ้าผ่า) พอมีคนสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงเสนอให้ตั้ง ชมรมคนรักมวลเมฆ และ (แกล้ง) บอกไปว่าขอค่าสมาชิก 2,000 บาท โดยโอนเงินเข้าบัญชีของผม หรือไม่ก็ต้องโพสต์ภาพเมฆที่ถ่ายเอง 1 ภาพ โดยระบุสถานที่ เวลา และเล่าเรื่องขณะเก็บภาพไว้ด้วยนิดหน่อยพอให้ได้บรรยากาศ

แน่นอนว่า…ทุกคนเลือกจ่ายค่าสมาชิกโดยการโพสต์ภาพและเล่าเรื่อง! 😉

เมฆแม่ไก่-เดย์
เมฆแม่ไก่ ภาพโดย เดย์ พุทธิพร อินทรสงเคราะห์

ในเดือนมีนาคม 2552 ชมรมคนรักมวลเมฆได้สร้างเว็บรวมศูนย์ (portal web) ที่ http://portal.in.th/cloud-lover
เพื่อให้ค้นข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น เว็บนี้ต่อมาเปลี่ยนโดเมนเนมเป็น www.CloudLoverClub.com

Old_Web-CLC-หน้าเมฆฝนฟ้าคะนองหัวฟูรูปทั่งเว็บชมรมคนรักมวลเมฆ (รูปแบบแรก)

การสร้างชมรมคนรักมวลเมฆบนระบบเว็บบล็อกและเว็บรวมศูนย์นี้ได้รับความช่วยเหลือจาก UsableLabs ภาควิชาวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่) ซึ่งนำทีมโดย ดร.ธวัชชัย และ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ระบบที่ใช้มีประสิทธิภาพสูงและมีเสถียรภาพดีเยี่ยม ทำให้การเข้าถึงและการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลของชมรมคนรักมวลเมฆทำได้อย่างราบรื่น นับเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของระบบข้อมูลของชมรมฯ  ชมรมคนรักมวลเมฆขอขอบคุณทีมงาน UsableLabs มาไว้ ณ ที่นี้

(อย่างไรก็ดีเว็บรวมศูนย์นี้ได้แจ้งปิดให้บริการในราวเดือนกันยายน 2556 ทำให้ต้องมีการย้ายข้อมูลทั้งหมดออกมา เพื่อสร้างเว็บแห่งใหม่ แต่ใช้โดเมนเนมเดิม)

วันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ได้เปิดกลุ่ม ชมรมคนรักมวลเมฆ ใน facebook  ตามคำแนะนำของ เดย์-พุทธิพร อินทรสงเคราะห์ เนื่องจากกระแสโซเชียลมีเดียที่มาแรง ทำให้ชมรมฯ เติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง กล่าวคือ วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 เมื่อชมรมคนรักมวลเมฆ บน facebook เปิดตัวได้ 8 เดือนเศษ มีสมาชิก 3,071 คน มีภาพจำนวน 11,106 ภาพ

หมุดหมายสำคัญในแง่จำนวนสมาชิก ได้แก่

50,000 คน : พุธ 2 กันยายน  2558

99,999 และ 100,000 คน : ศุกร์ 28 พฤษภาคม 2564

150,000 คน : อาทิตย์ 4 กรกฎาคม 2564

200,000 คน : พฤหัสบดี 28 ตุลาคม 2564

นอกจากการพบกันในโลกออนไลน์แล้ว ชมรมฯ ยังจัดการพบปะเพื่อนสมาชิก (Cloud Lover Club Meeting) ไปแล้วทั้งสิ้น 10 ครั้ง แต่ละครั้งมีการจัดสัมมนาวิชาการให้กับสมาชิก และมักจะมีการสัมภาษณ์โดยสื่อสารมวลชน

CLC-Meeting-4-DSC_0010-632x422Meeting ครั้งที่ 4 จัดที่ เมืองโบราณ

CLC-Meeting-5-599x317Meeting ครั้งที่ 5 จัดที่ สวนโมกข์ กรุงเทพ

สื่อสารมวลชน ไม่ว่าโทรทัศน์ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ได้ให้ความสนใจชมรมคนรักมวลเมฆเป็นระยะ โดยช่วยประชาสัมพันธ์ชมรม ที่โดดเด่นได้แก่ นิตยสารสารคดี (ฉบับที่ 313 มีนาคม 2555) และนิตยสาร a day (3 ครั้ง) รวมทั้งรายการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เช่น Thai PBS เป็นต้น

Web-CloudLoverClub-in-a_day-130นิตยสาร a day ฉบับที่ 130 นำเสนอชมรมคนรักมวลเมฆ

Buncha-Thai_PBS-Explaining_3_Suns-000x000ตอบคำถามเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์อาทิตย์ 3 ดวง” หรือ sundogs ผ่าน Thai PBS

ผมยังเขียนบทความเกี่ยวกับเมฆ & ปรากฏการณ์บรรยากาศเพื่อลงหนังสือพิมพืและนิตยสารต่างๆ รวมทั้งเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมฆ & ลมฟ้าอากาศ (ตีพิมพ์แล้ว 5 เล่ม) ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ, รู้ทันฝนฟ้าอากาศ, มหัศจรรย์ฟ้าฝน, คู่มือเมฆและปรากฏการณ์บนท้องฟ้า และรื่นรมย์ ชมเมฆ

Newspaper-Overshooting_Top-382x549ตัวอย่างบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Web-ปก-รู้ทันฝนฟ้าอากาศ รื่นรมยชมเมฆ-503x700

คู่มือเมฆ-720x481

Kratae-Sarakadee-Cloud-484x323
ตัวอย่างหนังสือจากชมรมคนรักมวลเมฆ

นอกจากนี้ ยังได้ให้สัมมนาเรื่อง เมฆ & ลมฟ้าอากาศ (กว่า 40 ครั้ง) เช่น ผ่านโครงการอบรมครูดาราศาสตร์ขั้นต้นของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และผ่านการสัมมนาที่จัดโดยสถาบันและโรงเรียนต่างๆ

สัมมนา-NARIT-เลยสัมมนาเรื่อง เมฆ & ลมฟ้าอากาศ สำหรับครูวิทยาศาสตร์ ที่ จ.เลย
ในโครงการอบรมครูของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

ชมรมคนรักมวลเมฆยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การประกวดเรียงความเกี่ยวกับอาทิตย์ทรงกลดที่ รร.สองพิทยาคม อ.สอง จ.แพร่ และการจัดประกวดภาพถ่ายในโครงการ “มวลเมฆขยับกาย” ซึ่งจัดร่วมกับ สนพ.สารคดี และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

กิจกรรม-ประกวด-มวลเมฆขยับกาย-480x360

ทั้งหมดนี้ เราทำไปด้วยความรัก & ความหลงใหลในเมฆและปรากฏการณ์ท้องฟ้า โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า ด้วย “ความรักคู่กับความรู้” ชมรมคนรักมวลเมฆจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มีพลังและยั่งยืน และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทย

บัญชา ธนบุญสมบัติ
ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ

แก้ไขล่าสุด : จันทร์ 8 พฤศจิกายน 2564  16.16น.
บันทึกครั้งแรก : พฤหัสบดี 3 เมษายน 2557  10:53น.

…………………………………………………………………………………………………….

ภาคผนวก

6 Comments

Leave a Comment